วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คำผวน

         คำว่าผวนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายไว้ว่า  ผวน[ผฺวน] ก. หวน, กลับ, เช่น ผวนคํา, เรียกคําที่พูดทวนกลับเช่นนั้น เช่น ตกที่อิฐ ผวนเป็นติดที่อก ว่า คําผวน.
        คำผวนเป็นการเล่นทางภาษาอย่างหนึ่งในภาษาไทย ที่ใช้วิธีการผวนคำ หรือสลับตำแหน่งของเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ในคำสองพยางค์ขึ้นไป 
     ลักษณะคำผวนสองพยางค์
        พยัญชนะต้นของสองพยางค์ยังคงตำแหน่งเดิม สลับเสียงสระ วรรณยุกต์และต้วสะกด ผวนโดยจะเน้นเสียงป็นหลัก ส่วนเสียงวรรณยุกต์อาจเพี้ยนได้เล็กน้อย ไม่เน้นอักขรวิธี  ดังนั้นพยัญชนะต้นและสระของพยางค์แรกกับพยัญชนะต้นและสระพยางค์หลังต้องเป็นคนละเสียงกัน เช่น  
                เบอร์ห้า ผวนเป็น บ้าเห่อ
                ทำนา ผวนเป็น ทานำ
                หัวมัน ผวนเป็น หันมัว
                ตามัว  ผวนเป็น  ตัวมา
               (ลุงชาญ ชื่อผมก็ผวนเป็น LanChung ใช้ในเอ็ม)

       ลักษณะคำผวนมากกว่าสองพยางค์
        มักจะผวนเป็นคู่ คงพยางค์เดิมไว้ส่วนหนึ่ง
             มัวหนึ่งตา ผวนเป็น มาหนึ่งตัว
             ทำอะไร  ผวนเป็น ไทยอะรำ
            กินอะไร ผวนเป็น ไกอะริน
  
          ไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าคำผวนกำเนิดมาแต่เมื่อใด เท่าที่มีหลักฐานปรากฏพบว่ามีการเล่นคำผวนมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเรื่องเล่าว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศรีปราชญ์ กวีเอกในสมัยนั้นได้เคยแต่งโคลงกระทู้ "เป แป มา นา" โดยใช้คำผวน
"เป ทะลูอยู่ถ้ำ มีถม 
แป สะหมูอยู่ตม ไต่ไม้ 
มา แดงแกว่งหางงม หาคู่ 
นา ปล้ำน้ำจิ้มให้ รสลิ้มชิมลอง"
                                   (ให้ผู้อ่านผวนเองนะครับ คงไม่ต้องผวนให้ดู)

      ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานว่า สุนทรภู่ ปรมาจารย์ด้านกลอนของไทยได้แต่งโคลงคำผวนโต้ตอบผู้ที่สบประมาทกล่าวหาว่าท่านแต่งได้แต่กลอนเท่านั้น โคลงแต่งไม่ได้ สุนทรภู่จึงแต่งโคลงเป็นคำด่าผู้สบประมาท ดังนี้
 "เฉน็งไอมาเวิ่งเว้า วู่กา  
รูกับกาว เมิงแต่ยา   มู่ไร้  
ปิดเซ็นจะมู่ซา       เคราทู่  
เฉะแต่จะตอบให้   ชีพม้วยมังรณอ
                       (ให้ผู้อ่านผวนเองนะครับ คงไม่ต้องผวนให้ดู)

       การเล่นคำผวนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ตลกขบขัน แซวหรือหยอกล้อกันภายในกลุ่มสนทนา ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเล็กๆที่สมาชิกกลุ่มมีพื้นฐานในการผวนคำด้วยกัน 
       ผวนคำส่วนหนึ่งก็เพื่อหลีกเลี่ยงคำหยาบหรือคำไม่สุภาพ เช่นเรื่องเพศ โดยไม่ได้มุ่งที่จะให้เกิดความคิดเกี่ยวกับอารมณ์เพศ   เมื่อต้องการจะกล่าวพาดพิงถึงเรื่องเพศก็มักจะเลี่ยงใช้คำผวนเพราะวัฒนธรรมไทยถือกันว่าเรื่องเพศไม่สมควรพูดในที่สาธารณะ เมื่อพูดตรงๆ ไม่ได้ ก็ต้องหาทางเลี่ยงแทน  
       มีเรื่องเล่าว่าคนชอบพูดคำผวนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชคณะหนึ่ง ไปเยี่ยมเพื่อนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนกลุ่มนี้ชอบพูดคำผวนเช่นกัน  การพบปะทักทายกันจะใช้คำผวนเกือบตลอดเวลา ครั้นถึงเวลาเลี้ยงดูปูเสื่อ คณะจากสุราษฎร์ฯ นึกสนุกขึ้นมา เอ่ยชวนคณะจากนครฯ ว่า   เรามาแข่งผวนคำกันเอาม่าย  ฝ่ายใดแพ้ให้เป็นเจ้าภาพค่าอาหารมื้อนี้  คนหนึ่งในทีมนครฯ ตอบทันทีว่า ออ ได้  โดยลากเสียงนิดหน่อย   ทีมสุราษฎร์ฯ ยกมือยอมแพ้ทันที (เพราะคำตอบของทีมนครฯ ผวนได้)
     อนึ่ง การพูดหรือการเล่นคำผวนนั้น มุ่งความสนุกสนานเป็นหลัก ไม่ได้ยั่วยุให้เกิดกำหนัดทางกามารมณ์ หรือเป็นการหมกมุ่นในเรื่องกิจกรรมทางเพศแต่อย่างใด ขอยืนยันครับ

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

กลอนบทดอกสร้อย

         กลอนบทดอกสร้อยเป็นกลอนอีกลักษณะหนึ่งที่มีความนิยมแต่งกันมากในสมัยก่อน การแต่งกลอนดอกสร้อยส่วนใหญ่ใช้แสดงความรู้สึกและความคิดเห็นที่สามารถจบลงอย่างสั้นๆ  
         กลอนดอกสร้อยหนึ่งบท จะมีสี่คำกลอน หรือแปดวรรค ขึ้นต้นด้วยคำคำหนึ่ง โดยมีคำว่า"เอ๋ย"คั่น และตามด้วยคำแรกที่มีคำขยายอีกคำหนึ่ง เช่น น้ำเอ๋ยน้ำท่วม น้ำเอ๋ยน้ำตา เป็นต้น และในวรรคสุดท้ายของบท จะจบด้วยคำ"เอย"
        กลอนบทดอกสร้อยหนึ่งบท ถ้าำไม่นับวรรคแรกแล้วก็เหมือนกับกลอนสุภาพ ๒ บท ลักษณะของสัมผัส ความไพเราะและแง่งามต่างๆ เช่นเดียวกับกลอนแปด
 
ตัวอย่างบทดอกสร้อย(ของเก่า)
        จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า                 ใครขอข้าวขอแกงท้องแห้งหนอ
ร้องจนเสียงแห้งแหบถึงแสบคอ       จันทร์จะขอให้เราก็เปล่าดาย
ยืมจมูกท่านหายใจเห็นไม่คล่อง       จงหาช่องเลี้ยงตนเร่งขวนขวาย
แม้นเป็นคนเกียจคร้านพานกรีดกราย  ไปมัวหมายจันทร์เจ้าอดข้าวเอย 
                                                           (นายทัด เปรียญ แต่ง )

ในบล็อกนี้ จะทะยอยเขียนบทดอกสร้อย ทะยอยลงในหน้านี้ในโอกาสต่อไปนะครับ
 

กลอนสักวา

         กลอนสักวา (สัก-กะ-วา] เป็นร้อยกรองประเภทกลอนชนิดหนึ่ง หนึ่งบทมี สี่คำกลอนหรือแปดวรรค ขึ้นต้นด้วยคำ 'สักวา' และลงท้ายตอนจบบท(วรรคที่๘)ด้วยคำ 'เอย'
         กลอนสักวาถูกนำมาใช้ทั้งแบบที่เป็นบทประพันธ์ธรรมดา ของผู้ที่มีความสามารถทางด้านการประพันธ์ และนำมาใช้เป็นการละเล่นโต้ตอบกันระหว่างผู้เล่นหลายคน ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางด้านร้อยกรอง และยังต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณของผู้เล่น  ที่จะสามารถโต้ตอบกันได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
         การเล่นสักวานี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัยโบราณ เพราะเป็นการแสดงออกถึงความสามารถทางด้านกวีนิพนธ์ที่โดดเด่นและสนุกสนาน ทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง
         ในสมัยโบราณ มีการเล่นสักวา การเล่นอาจะเล่นบนเรือนที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือนแพหรือเรือนริมน้ำ
หรือ เล่นกันบนเรือ โดยลงเรือกันไปเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นคณะ แต่ละกลุ่มหรือคณะ มีผู้เล่นสักวา  นักร้อง นักดนตรี แล้วแต่งบทสักวาโต้ตอบกัน การโต้ตอบอาจจะเป็นการโต้ตอบกันตามธรรมดา หรือเลือกเอาวรรณคดีต่างๆ มากันเล่นเป็นตอนๆ
        การเล่นสักวาทางเรือนั้นจะเล่นกันในหน้าน้ำ ประมาณเดือน 11 เดือน 12 ช่วงฤดูน้ำหลาก มักเล่นกันในโอกาสเทศกาลทอดกฐินทอดผ้าป่าหรือลอยเรือเที่ยวทุ่ง เมื่อไปพบกันก็จะลอยเรือมารวมกันเล่นกลอนสักวา
        การเล่นสักวานี้สันนิษฐานว่าเป็นที่นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณต่างๆ จนกระทั่งถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 การเล่นสักวาทางน้ำได้หยุดไปเมื่อสังคมเปลี่ยนไป การคมนาคมทางน้ำนั้นมีน้อยลง ผู้คนเปลี่ยนการคมนาคมในชีวิตประจำวันมาเป็นทางบกเป็นส่วนใหญ่หรือทางอากาศ การคมนาคมหรือการละเล่นทางน้ำจึงลดน้อยหรือหยุดลงไป
         การเล่นสักวาในสมัยปัจจุบัน จะการเล่นในอาคารสถานที่บนบก ตามสภาพของสังคมในปัจจุบัน และการเพิ่มการแสดงประกอบการเล่นสักวาขึ้นมาอีก เรียกว่าสักวาออกตัว(แสดง) ซึ่งนอกจากจะได้อรรถรสทางด้านภาษาจากการเล่นสักวา แล้วยังได้อรรถรสจากการบรรเลงดนตรี ขับร้อง และการร่ายรำอีกด้วย

         ลักษณะของกลอนสักวา กลอนสักวาบทหนึ่งมี ๘ วรรค  หรือ ๒ คำกลอน วรรคหนึ่งใช้คำ  ตั้งแต่ ๖-๙ คำ ถ้าจะแต่งบทต่อไปต้องขึ้นบทใหม่ ไม่ต้องร้อยสัมผัสข้องกับบทต้น กลอนสักวาต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า "สักวา" และลงท้ายด้วยคำว่า"เอย" ในวรรคสุดท้ายหรือวรรคจบ ในด้านสัมผัสและความไพเราะและลักษณะแง่งามของกลอนสักวาเหมือนกับกลอนสุภาพ

 ตัวอย่างกลอนสักวา (ของเก่า)
          สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน          ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม      อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม    ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม
ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์            ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย
                               (พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ )
       ในบล็อกนี้จะเน้นบทร้อยรองที่เป็นกลอนสักวา และจะทะยอยเขียนในหน้านี้เรื่อยๆ ในโอกาสต่อไป นะครับ

วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นิทานเซ็น : ความถูกผิด

        จีนสมัยโบราณ มีวัดพุทธศาสนาใหญ่อยู่วัดหนึ่ง มีระเบียบให้คนในวัดมาประชุมทำวัตรสวดมนต์กัน ณ ศาลาแหล่งกลาง ด้วยการตีระฆังใบใหญ่ตอนตีสี่ทุกวัน 
        ครั้งนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ทุกๆวันแกจะขมีขมันอุตส่าห์ตื่นก่อนเวลาจุดไฟเดินส่องไปตามทางปูหินก่อนใครๆเพื่อจะได้จับหอยทากที่คลานอยู่ตามทางเท้า ไปปล่อยเสียให้ห่างในที่ปลอดภัย เพราะไม่อย่างนั้นถึงเวลาระฆังสัญญาณขึ้น ผู้คนเดินไปสู่ศาลากันมากมาย จะเหยียบถูกหอยทากตาย แกทำอย่างนี้ทุกๆวันวันแล้ววันเล่า 
        มีภิกษุอื่นสังเกตเห็น เลยเกิดมีการสอบถามขึ้นในที่ซึ่งพร้อมหน้ากันว่า "ทุกวันทำเช่นนั้น ทำทำไม? "
        ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ผมใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อประกอบความดี สร้างบารมีเรื่อยไปนะแหละ นอกจากจะสวดมนต์ภาวนาเท่ากับคนอื่นแล้ว ผมก็หาบุญกุศลพิเศษอีกด้วยนะซิ
        ภิกษุอีกรูปหนึ่งค้านขึ้นว่า “ท่านทราบไหมที่ทำอย่างนี้เหมือนกับก่อกรรมทำเข็ญ ยังบาปโทษให้เกิดแก่ชาวเรือกสวน เพราะความเดือดร้อนด้วยหอยทากที่ท่านช่วยสงวนพันธุ์ไว้ให้ระบาด กระจายไปที่อื่นๆนอกวัด ทางการเขาสั่งกำจัดสัตว์แพร่โรคชนิดนี้กันหมดแล้ว จะยังเหลือก็แต่แหล่งเพาะพันธุ์ในวัดนี้แหละ คนทั้งหลายก็พลอยได้รับผลของการกระทำของท่านไปทั้งแขวงเมืองฝ่ายใต้นี้
         ภิกษุอีกรูปหนึ่งพูดขึ้นว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านรูปนั้นมิได้มีเจตนาให้เป็นภัยแก่คนทั้งหลายเหล่านั้น ตรงข้ามท่านกำลังบำเพ็ญหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ ทำการปลดปล่อยสัตว์แปดหมื่นสี่พันจากวิบัติ และยังช่วยปลดปล่อยทำความปลอดภัยให้พวกเราในวัดนี้ ได้บำเพ็ญความบริสุทธิ์ ไม่ต้องไปมีเหตุต้องทำชีวิตให้ตกล่วงไปอีกด้วย
        เมื่อไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ทั้งหมดก็พากันไปหาหลวงพ่อโตกุซัน เจ้าอาวาส ท่านอาจารย์ผู้เฒ่านิ่งฟังการชี้แจงของแต่ละราย แต่ละความเห็น ด้วยความกรุณาและเห็นใจเป็นที่สุด ท่านได้แต่จ้องหน้าตั้งใจฟังคนนั้นที คนนี้ที
        ภิกษุรูปแรกชี้แจงว่า “ผมก็มีอายุมากแล้ว มาบวชเรียนในพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อมาทำความดี ความดีแม้จะน้อยหนึ่งแต่หมั่นประกอบกระทำทั้งกลางคืนกลางวัน ย่อมจะเต็มได้เหมือนหยาดน้ำทีละหยดๆ อาจเต็มตุ่มได้ อย่างนี้จะว่าเป็นโทษบาปได้อย่างไรครับ หลวงพ่อ?
        ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก-ถูก ถูกแล้ว
        ภิกษุรูปที่สองชี้แจงว่า “ถ้าว่าโดยเจตนากันแล้ว หากมีคนใดไปเหยียบหอยทางเวลาเดินไปสวดมนต์ตอนมืดๆนั่นก็มิใช่เจตนาฆ่า เมื่อไม่มีเจตนา ก็มิใช่เป็นกรรมอันใด ผลยังจะสะท้อนว่าเป็นความปลอดภัยของมหาชนเป็นอันมาก ที่วัดนี้ไม่ได้เป็นแหล่งสุดท้ายที่มีหอยทาก อันเป็นสัตว์ทำลายพืชผลและตัวเพาะโรคห่าสู่ประชาชน และยังชื่อว่าช่วยกันทำตามประกาศของข้าราชการที่ให้หัวเมืองฝ่ายเหนือใต้ กำจัดพาหะนำเชื้อชนิดนี้อีกด้วย ทั้งคนในวัดนี้ก็จะได้อยู่กันอย่างไม่มีโรคเพื่อประกอบกิจ ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์กันต่อไป เป็นผลดีทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้นทั้งมวล มิใช่หรือครับ หลวงพ่อ?
         ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก-ถูก ถูกแล้ว
         ภิกษุรูปที่สามชี้แจงว่า “การบำเพ็ญธรรมให้ความปลอดภัยแก่คนส่วนใหญ่โดยมีใครคนใดคนหนึ่งเสียสละ รับเป็นภาระไปเสีย เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกๆคนเขาได้ประกอบกระทำความหลุดรอดไปตามทางของเขา ตลอดถึงสัตว์ใดๆแม้จะอยู่ในร่างที่ต่ำต้อยอยู่ธรรมชาติแห่งการตรัสรู้ก็มิได้มีน้อยหรือมากขึ้น เพียงปัญญาญาณโพลงวาบเดียว ผลกรรมใดๆแม้มากน้อยเท่าใด ย่อมถูกยกเลิกเสียหมดสิ้น ดูแต่มหาโจรใจร้าย บาปกรรมเกรอะกรังก็ยังเปลื้องกรรมอันมหันต์นั้นได้เพียงชั่วอึดใจเดียว อย่างนี้ก็มิเป็นการถูกต้องหรือครับ หลวงพ่อ?
         ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก ถูก ถูกแล้ว
         ขณะนั้น สามเณรอุปฐาก กำลังนั่งพัดอยู่ข้างหลังอาจารย์ผู้เฒ่าได้ฟังเขาชี้แจงทีละคนๆและหลวงพ่อก็ยอมรับว่าเขาแต่ละรายถูกๆๆ เณรอดทนฟังต่อไปไม่ได้ ก็เอ่ยขัดขึ้น เพื่อขอโอกาสออกความเห็น      
         หลวงพ่อโตกุซัน ทราบดังนั้น ก็เหลียวหมุนตัวมาตั้งใจฟังสามเณรอีกรายหนึ่ง...
         สามเณรน้อยติงว่า “หลวงพ่อได้แต่ร้อง ถูก-ๆ-ๆ มันจะมีถูกกันไปหมดทุกฝ่ายได้อย่างไร ถ้ามีถูกอันใด อันอื่นก็ต้องผิดซิ หลวงพ่อ?”
         ท่านอาจารย์ผู้เฒ่าพอฟังจบ ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “อ๊ะ นี่เธอก็ถูก ถูก ถูกแล้ว” 

         นิทานจบ   แต่นิทานเรื่องนี้จะสอนให้รู้ว่า การมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเราสามารถมองได้หลายแง่มุม ตามแต่ว่าใครจะมองในแง่มุมใด ซึ่งในแต่ละแง่มุมนั้นย่อมที่จะเหตุผลที่ถูกต้องของมันอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งก็อาจจะไม่ถูกต้องถ้ามองในแง่มุมของคนอื่นก็ได้ 
         ภิกษุรายแรกก็มีเหตุผลในแง่ของจิตใจหรือการทำความดี 
         ส่วนภิกษุรายที่สองก็มีเหตุผลในแง่ของผลประโยชน์หรือเศรษฐกิจ 
         ส่วนรายที่สามก็มีเหตุผลในแง่ของการบำเพ็ญบารมีเพื่อความพ้นทุกข์ 
         ส่วนสามเณรก็มีเหตุผลในแง่ของความแตกต่าง 
         ต่างฝ่ายต่างก็ยึดถือว่าเหตุผลของตนเองถูก และของคนอื่นผิดจึงทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น 
         จะมีก็แต่หลวงพ่อโตกุซันเท่านั้นที่เข้าใจ แต่ก็ไม่รู้จะสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจได้อย่างไร เพราะลูกศิษย์แต่ละคนได้ยึดถือความเห็นของตนไว้แน่นจนไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น หรือไม่ปล่อยวางความเห็นของตนบ้าง 
        

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วันแห่งความรัก กับ ความรัก

      ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวคริสต์ นั่นก็คือ"วันวาเลนไทน์" หรือ"วันแห่งความรัก"นั่นเอง  สำหรับในประเทศไทย เทศกาลแห่งความรักนี้ก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย ไม่ว่าจะในหมู่ชาวคริสต์ หรือชาวพุทธก็ตาม ซึ่งปกติชาวพุทธก็ปรับตัวเข้ากันได้กับทุกเทศกาลอยู่แล้ว
       วันวาเลนไทน์เป็นคล้ายวันเสียชีวิตของเซนต์วาเลนไทน์ (Saint Valentine) นักบุญแห่งกรุงโรม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการจัดงานแต่งงานในยุคที่ไม่นิยมให้แต่งงานกัน เหตุเพราะในช่วงนั้น โรม ต้องประสบกับสงคราม จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ต้องการเกณฑ์คนไปรบ แต่มีบุคคลจำนวนมากที่มีครอบครัว มีภรรยา มีคนรัก ต่างไม่อยากจะทิ้งครอบครัวไป ทำให้ จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ตัดสินใจให้ยกเลิกการแต่งงานและการหมั้นทั้งหมดของชาวโรมันในยุคนั้นไปหมด อย่างสิ้นเชิง   
        แต่นักบุญวาเลนไทน์กลับสวนกระแสของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ชักชวนคู่รักมาแต่งงานหลายต่อหลายคู่ จนโดนจับตัวไปขังเอาไว้ และในคุกที่คุมขังนักบุญวาเลนไทน์นั้น เขาได้พบรักกับสาวตาบอดนางหนึ่ง เมื่อโดนจับได้ นักบุญวาเลนไทน์จึงถูกนำตัวไปประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็น วันวาเลนไทน์ วันที่ผู้คนจะรำลึกถึงนักบุญผู้อุทิศตนให้ความรักนั่นเอง
        ในทางพุทธศาสนาก็ได้ยอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุุชน เรื่องของความรักเป็นเรื่องของธรรมชาติอย่างหนึ่งของปุถุชน ทางพุทธศาสนาจะมองว่าในธรรมชาตินั้นมีข้อบกพร่องหรือมีโทษอย่างไร ก็จะสอนถึงการปรับปรุง พัฒนาหรือทำให้ดียิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดโทษแก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและแก่สังคม เพื่อให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีงามอันเป็นประโยชน์เกิ้อกูลกัน อย่างน้อยที่สุดทำให้คนคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โดยเข้าถึงจิตใจของแต่ละคนและประโยชน์อันเกิดแก่ผู้เกี่ยวข้อง เช่น บุตร วงศาคณาญาติ เพื่อนฝูง และจะขยายสู่สังคมวงกว้างด้วย
 
         พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)* ได้อธิบายสรุปได้ว่า ความรักมีสองประเภท คือ ความรักระหว่างเพศหรือความรักที่ปรารถนาจะเอาความสุข กับความรักที่ปรารถนาจะให้เขามีความสุข

         ความรักประเภทที่หนึ่ง ความรักที่ปรารถนาจะเอาความสุข จะเป็นความรักระหว่างเพศหรือความรักทางเพศ ความรักประเภทนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชม ติดใจ หรือความปรารถนาในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก ความรักแบบนี้มีลักษณะสำคัญคือต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่าที่รักเขานั้นก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องมือบำรุงบำเรอความสุขแก่ตนเอง 
         เนื่องจากความรักประเภทนี้มุ่งที่จะเอาความสุขให้แก่ตัว จึงมีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจถูกใจเป็นเป้า และเป็นความยึดติดเฉพาะตัว มีการยึดถือเป็นของตัว  ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแค่ผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งเกี่ยว ให้ใจของเขาอยู่กับเราอาใจใส่เรา ไม่ให้ปันใจไปยังผู้อื่น ทำให้เกิดความหึงหวง หวงแหน
          ความรักประเภทนี้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจสนองความต้องการทางกายและจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่ง ความรักก็จะเริ่มโรยรา ความน่าเบื่อก็จะเกิดขึ้นระหว่างกัน อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะและเลิกราไปในที่สุด  ความรักประเภทนี้จึงเป็นความรักที่ไม่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยต่างๆนานา
          ความรักประเภทที่สอง เป็นความรักที่อยากให้เขามีความสุข เป็นความรักที่เป็นความปรารถนาดี เรารักใครก็อยากให้คนนั้นมีความสุข  อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไรๆให้เขามีความสุข           
          การทำให้เขามีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้ การให้เป็นการปฏิบัติที่ชัดเจนและต้องใช้มากที่สุดในการทำให้ผู้อื่นมีความสุข แต่ว่าการให้ในที่นี้ไม่ใช่เป็นการอ่อยเหยื่อหรือเอาอกเอาใจโดยหวังผลตอบแทนบางอย่าง การให้แบบนั้นเมื่อไม่ได้มาก็จะเสียใจ เสียดาย คับแค้นใจ เพราะเป็นการให้เพื่อจะเอา ไม่ได้ปรารถนาดีอย่างแท้จริง
           ความรักประเภทที่หนึ่งนั้นการได้จึงจะเป็นความสุข แต่ในแบบที่สองการให้ก็เป็นความสุข หรือพูดสั้นๆว่า ความรักที่เป็นการเอากับความรักที่เป็นการให้
           ถ้าเรารักเขา อยากให้เขามีความสุขแล้ว เมื่อเขามีความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมา ความรักก็จะกลายเป็นความสงสาร อยากช่วยเหลือให้พ้นจากทุกข์ ไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ ซึ่งต่างกันอย่างชัดเจนกับความรักประเภทที่หนึ่ง
           ความรักประเภทที่หนึ่งเป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งนั่นเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็เบื่อหน่ายรังเกียจ 
           ความรักประเภทที่หนึ่ง ทางพระเรียกว่า"ราคะ" หรือ"เสน่หา" ส่วนความรักประเภทที่สองเรียกว่า"เมตตา"ผนวกกับ"ไมตรี" และ"เมตตา" จะกลายเป็น"กรุณา" โดยอัตโนมัติเมื่อคนที่เรารักเป็นทุกข์หรือลำบากเดือดร้อน
           ความจริงทุกๆวันควรเป็นวันแห่งความรัก แต่ไหนๆก็ถือเอาวันที่14 กุมภาพันธ์เป็นวันแห่งความรัก ก็ถือโอกาสนี้เขียนถึงเรื่องของความรัก ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความรักทั้งแบบที่หนึ่งและพัฒนาเป็นความรักแบบที่สองนะครับ

---------------
           * พระพรหมคุณาภรณ์  ธรรมกถาในวันมาฆะบูชา 2544 เรื่อง "ความรักจากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย" 

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

สติ ปัญญาและไหวพริบ

      เรื่องต่อไปนี้ นำมาให้อ่านกันเล่นๆ เพื่อให้เห็นว่าถ้าครองสติได้ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม มีปัญหาใดๆก็สมารถแก้ไขได้ตามฐานปัญญาและไหวพริบของแต่ละคน

      เรื่องมีว่าเมื่อหลายปีมาแล้วมีข่าวใหญ่หน้าหนังสือพิมพ์ว่าดาราสาววัยรุ่นผู้มีสติไหวพริบปฎิภาณดีมากคนหนึ่ง เกือบจะถูกข่มขืนขณะเดินเข้าบ้านในซอยเปลื่ยวยามค่ำคืน ต่อไปนี้ข้อความที่ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ดาราสาวผู้นั้น

ผู้สื่อข่าว : "ทำไมถึงกลับบ้านดึกดื่นล่ะจ๊ะหนู
                 แล้วหนูกลับบ้านยังไง... "
ดาราสาว : "มีดาราหนุ่มรุ่นพี่มาส่งค่ะ...แต่ด้วยไหวพริบของหนู
                  หนูสังเกตว่าเขาเป็นคนขี้หลี   ถ้าให้รู้จักบ้าน  
                  ก็จะตามมาตื้อจนรำคาญ  จึงให้ส่งแค่ปากซอย
                  แล้วหนูเดินเข้ามา"
ผู้สื่อข่าว :  "แล้วเกิดอะไรขึ้น... "
ดาราสาว : "มีผู้ชายคนหนึ่ง..รูปร่างสูงใหญ่..ล่ำสัน..มีอาการเมาเล็กน้อย 
                  เดินตามหนูมา..ด้วยไหวพริบของหนู
                  หนูรู้ได้เลยว่าไม่ได้มาดีแน่... "
ผู้สื่อข่าว :  "แล้วยังไงต่อจ๊ะ... "
ดาราสาว :  "หนูตัดสินใจออกวิ่ง..แต่ชายคนนั้นก็วิ่งตามทันที...
                  ด้วยไหวพริบหนูรู้ว่า..วิ่งยังไงก็คงไม่เร็วกว่าผู้ชายอยู่ดี
                  ยังไงเขาก็ต้องตามทัน..และใช้กำลังแน่นอน"
ผู้สื่อข่าว :  "ยังไงต่อจ๊ะ... "
ดาราสาว : "ด้วยไหวพริบของหนู..หนูตัดสินใจหยุดวิ่ง...
                 เพื่อไม่ให้ต้องเจ็บตัวหนูตัดสินใจเจรจาต่อรอง...."
ผู้สื่อข่าว :  "ผลการเจรจาเป็นอย่างไรจ๊ะ..."
ดาราสาว : "หนูบอกเขาว่า..ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องใช้กำลัง...
                 ไม่เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย...หนูยินยอมทำตามที่เขาต้องการ"
ผู้สื่อข่าว :  "เรื่องเป็นอย่างไรต่อจากนั้น"
ดาราสาว : "ด้วยไหวพริบของหนู...หนูชวนเขาเข้าไปในซอกตึกลับตาคน...
                 แล้วต่างคนต่างถอดเสื้อผ้าของตัวเอง....
                 หนูถกกระโปรงขึ้นมาเหนือเอว..
                 ส่วนเขาปลดกางเกงตกลงมากองที่รองเท้า"
ผู้สื่อข่าว : "เรื่องเป็นยังไงต่อจ๊ะ"
ดาราสาว : "ลองใช้ไหวพริบคิดดูสิ..ว่า..ชายที่รูดกางเกงลงไปกองที่ตาตุ่ม
                 กับหญิงสาวที่ถกกระโปรงขึ้นเหนือเอวน่ะ ใครจะวิ่งเร็วกว่ากัน"

            เรื่องนี้คงไม่ต้องสรุปปิดท้ายบทความอีกนะครับ