วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นิทานเซ็น : ความถูกผิด

        จีนสมัยโบราณ มีวัดพุทธศาสนาใหญ่อยู่วัดหนึ่ง มีระเบียบให้คนในวัดมาประชุมทำวัตรสวดมนต์กัน ณ ศาลาแหล่งกลาง ด้วยการตีระฆังใบใหญ่ตอนตีสี่ทุกวัน 
        ครั้งนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ทุกๆวันแกจะขมีขมันอุตส่าห์ตื่นก่อนเวลาจุดไฟเดินส่องไปตามทางปูหินก่อนใครๆเพื่อจะได้จับหอยทากที่คลานอยู่ตามทางเท้า ไปปล่อยเสียให้ห่างในที่ปลอดภัย เพราะไม่อย่างนั้นถึงเวลาระฆังสัญญาณขึ้น ผู้คนเดินไปสู่ศาลากันมากมาย จะเหยียบถูกหอยทากตาย แกทำอย่างนี้ทุกๆวันวันแล้ววันเล่า 
        มีภิกษุอื่นสังเกตเห็น เลยเกิดมีการสอบถามขึ้นในที่ซึ่งพร้อมหน้ากันว่า "ทุกวันทำเช่นนั้น ทำทำไม? "
        ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ผมใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อประกอบความดี สร้างบารมีเรื่อยไปนะแหละ นอกจากจะสวดมนต์ภาวนาเท่ากับคนอื่นแล้ว ผมก็หาบุญกุศลพิเศษอีกด้วยนะซิ
        ภิกษุอีกรูปหนึ่งค้านขึ้นว่า “ท่านทราบไหมที่ทำอย่างนี้เหมือนกับก่อกรรมทำเข็ญ ยังบาปโทษให้เกิดแก่ชาวเรือกสวน เพราะความเดือดร้อนด้วยหอยทากที่ท่านช่วยสงวนพันธุ์ไว้ให้ระบาด กระจายไปที่อื่นๆนอกวัด ทางการเขาสั่งกำจัดสัตว์แพร่โรคชนิดนี้กันหมดแล้ว จะยังเหลือก็แต่แหล่งเพาะพันธุ์ในวัดนี้แหละ คนทั้งหลายก็พลอยได้รับผลของการกระทำของท่านไปทั้งแขวงเมืองฝ่ายใต้นี้
         ภิกษุอีกรูปหนึ่งพูดขึ้นว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านรูปนั้นมิได้มีเจตนาให้เป็นภัยแก่คนทั้งหลายเหล่านั้น ตรงข้ามท่านกำลังบำเพ็ญหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ ทำการปลดปล่อยสัตว์แปดหมื่นสี่พันจากวิบัติ และยังช่วยปลดปล่อยทำความปลอดภัยให้พวกเราในวัดนี้ ได้บำเพ็ญความบริสุทธิ์ ไม่ต้องไปมีเหตุต้องทำชีวิตให้ตกล่วงไปอีกด้วย
        เมื่อไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ทั้งหมดก็พากันไปหาหลวงพ่อโตกุซัน เจ้าอาวาส ท่านอาจารย์ผู้เฒ่านิ่งฟังการชี้แจงของแต่ละราย แต่ละความเห็น ด้วยความกรุณาและเห็นใจเป็นที่สุด ท่านได้แต่จ้องหน้าตั้งใจฟังคนนั้นที คนนี้ที
        ภิกษุรูปแรกชี้แจงว่า “ผมก็มีอายุมากแล้ว มาบวชเรียนในพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อมาทำความดี ความดีแม้จะน้อยหนึ่งแต่หมั่นประกอบกระทำทั้งกลางคืนกลางวัน ย่อมจะเต็มได้เหมือนหยาดน้ำทีละหยดๆ อาจเต็มตุ่มได้ อย่างนี้จะว่าเป็นโทษบาปได้อย่างไรครับ หลวงพ่อ?
        ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก-ถูก ถูกแล้ว
        ภิกษุรูปที่สองชี้แจงว่า “ถ้าว่าโดยเจตนากันแล้ว หากมีคนใดไปเหยียบหอยทางเวลาเดินไปสวดมนต์ตอนมืดๆนั่นก็มิใช่เจตนาฆ่า เมื่อไม่มีเจตนา ก็มิใช่เป็นกรรมอันใด ผลยังจะสะท้อนว่าเป็นความปลอดภัยของมหาชนเป็นอันมาก ที่วัดนี้ไม่ได้เป็นแหล่งสุดท้ายที่มีหอยทาก อันเป็นสัตว์ทำลายพืชผลและตัวเพาะโรคห่าสู่ประชาชน และยังชื่อว่าช่วยกันทำตามประกาศของข้าราชการที่ให้หัวเมืองฝ่ายเหนือใต้ กำจัดพาหะนำเชื้อชนิดนี้อีกด้วย ทั้งคนในวัดนี้ก็จะได้อยู่กันอย่างไม่มีโรคเพื่อประกอบกิจ ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์กันต่อไป เป็นผลดีทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้นทั้งมวล มิใช่หรือครับ หลวงพ่อ?
         ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก-ถูก ถูกแล้ว
         ภิกษุรูปที่สามชี้แจงว่า “การบำเพ็ญธรรมให้ความปลอดภัยแก่คนส่วนใหญ่โดยมีใครคนใดคนหนึ่งเสียสละ รับเป็นภาระไปเสีย เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกๆคนเขาได้ประกอบกระทำความหลุดรอดไปตามทางของเขา ตลอดถึงสัตว์ใดๆแม้จะอยู่ในร่างที่ต่ำต้อยอยู่ธรรมชาติแห่งการตรัสรู้ก็มิได้มีน้อยหรือมากขึ้น เพียงปัญญาญาณโพลงวาบเดียว ผลกรรมใดๆแม้มากน้อยเท่าใด ย่อมถูกยกเลิกเสียหมดสิ้น ดูแต่มหาโจรใจร้าย บาปกรรมเกรอะกรังก็ยังเปลื้องกรรมอันมหันต์นั้นได้เพียงชั่วอึดใจเดียว อย่างนี้ก็มิเป็นการถูกต้องหรือครับ หลวงพ่อ?
         ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก ถูก ถูกแล้ว
         ขณะนั้น สามเณรอุปฐาก กำลังนั่งพัดอยู่ข้างหลังอาจารย์ผู้เฒ่าได้ฟังเขาชี้แจงทีละคนๆและหลวงพ่อก็ยอมรับว่าเขาแต่ละรายถูกๆๆ เณรอดทนฟังต่อไปไม่ได้ ก็เอ่ยขัดขึ้น เพื่อขอโอกาสออกความเห็น      
         หลวงพ่อโตกุซัน ทราบดังนั้น ก็เหลียวหมุนตัวมาตั้งใจฟังสามเณรอีกรายหนึ่ง...
         สามเณรน้อยติงว่า “หลวงพ่อได้แต่ร้อง ถูก-ๆ-ๆ มันจะมีถูกกันไปหมดทุกฝ่ายได้อย่างไร ถ้ามีถูกอันใด อันอื่นก็ต้องผิดซิ หลวงพ่อ?”
         ท่านอาจารย์ผู้เฒ่าพอฟังจบ ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “อ๊ะ นี่เธอก็ถูก ถูก ถูกแล้ว” 

         นิทานจบ   แต่นิทานเรื่องนี้จะสอนให้รู้ว่า การมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเราสามารถมองได้หลายแง่มุม ตามแต่ว่าใครจะมองในแง่มุมใด ซึ่งในแต่ละแง่มุมนั้นย่อมที่จะเหตุผลที่ถูกต้องของมันอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งก็อาจจะไม่ถูกต้องถ้ามองในแง่มุมของคนอื่นก็ได้ 
         ภิกษุรายแรกก็มีเหตุผลในแง่ของจิตใจหรือการทำความดี 
         ส่วนภิกษุรายที่สองก็มีเหตุผลในแง่ของผลประโยชน์หรือเศรษฐกิจ 
         ส่วนรายที่สามก็มีเหตุผลในแง่ของการบำเพ็ญบารมีเพื่อความพ้นทุกข์ 
         ส่วนสามเณรก็มีเหตุผลในแง่ของความแตกต่าง 
         ต่างฝ่ายต่างก็ยึดถือว่าเหตุผลของตนเองถูก และของคนอื่นผิดจึงทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น 
         จะมีก็แต่หลวงพ่อโตกุซันเท่านั้นที่เข้าใจ แต่ก็ไม่รู้จะสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจได้อย่างไร เพราะลูกศิษย์แต่ละคนได้ยึดถือความเห็นของตนไว้แน่นจนไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น หรือไม่ปล่อยวางความเห็นของตนบ้าง 
        

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วันแห่งความรัก กับ ความรัก

      ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวคริสต์ นั่นก็คือ"วันวาเลนไทน์" หรือ"วันแห่งความรัก"นั่นเอง  สำหรับในประเทศไทย เทศกาลแห่งความรักนี้ก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย ไม่ว่าจะในหมู่ชาวคริสต์ หรือชาวพุทธก็ตาม ซึ่งปกติชาวพุทธก็ปรับตัวเข้ากันได้กับทุกเทศกาลอยู่แล้ว
       วันวาเลนไทน์เป็นคล้ายวันเสียชีวิตของเซนต์วาเลนไทน์ (Saint Valentine) นักบุญแห่งกรุงโรม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการจัดงานแต่งงานในยุคที่ไม่นิยมให้แต่งงานกัน เหตุเพราะในช่วงนั้น โรม ต้องประสบกับสงคราม จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ต้องการเกณฑ์คนไปรบ แต่มีบุคคลจำนวนมากที่มีครอบครัว มีภรรยา มีคนรัก ต่างไม่อยากจะทิ้งครอบครัวไป ทำให้ จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ตัดสินใจให้ยกเลิกการแต่งงานและการหมั้นทั้งหมดของชาวโรมันในยุคนั้นไปหมด อย่างสิ้นเชิง   
        แต่นักบุญวาเลนไทน์กลับสวนกระแสของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ชักชวนคู่รักมาแต่งงานหลายต่อหลายคู่ จนโดนจับตัวไปขังเอาไว้ และในคุกที่คุมขังนักบุญวาเลนไทน์นั้น เขาได้พบรักกับสาวตาบอดนางหนึ่ง เมื่อโดนจับได้ นักบุญวาเลนไทน์จึงถูกนำตัวไปประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็น วันวาเลนไทน์ วันที่ผู้คนจะรำลึกถึงนักบุญผู้อุทิศตนให้ความรักนั่นเอง
        ในทางพุทธศาสนาก็ได้ยอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุุชน เรื่องของความรักเป็นเรื่องของธรรมชาติอย่างหนึ่งของปุถุชน ทางพุทธศาสนาจะมองว่าในธรรมชาตินั้นมีข้อบกพร่องหรือมีโทษอย่างไร ก็จะสอนถึงการปรับปรุง พัฒนาหรือทำให้ดียิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดโทษแก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและแก่สังคม เพื่อให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีงามอันเป็นประโยชน์เกิ้อกูลกัน อย่างน้อยที่สุดทำให้คนคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โดยเข้าถึงจิตใจของแต่ละคนและประโยชน์อันเกิดแก่ผู้เกี่ยวข้อง เช่น บุตร วงศาคณาญาติ เพื่อนฝูง และจะขยายสู่สังคมวงกว้างด้วย
 
         พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)* ได้อธิบายสรุปได้ว่า ความรักมีสองประเภท คือ ความรักระหว่างเพศหรือความรักที่ปรารถนาจะเอาความสุข กับความรักที่ปรารถนาจะให้เขามีความสุข

         ความรักประเภทที่หนึ่ง ความรักที่ปรารถนาจะเอาความสุข จะเป็นความรักระหว่างเพศหรือความรักทางเพศ ความรักประเภทนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชม ติดใจ หรือความปรารถนาในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก ความรักแบบนี้มีลักษณะสำคัญคือต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่าที่รักเขานั้นก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องมือบำรุงบำเรอความสุขแก่ตนเอง 
         เนื่องจากความรักประเภทนี้มุ่งที่จะเอาความสุขให้แก่ตัว จึงมีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจถูกใจเป็นเป้า และเป็นความยึดติดเฉพาะตัว มีการยึดถือเป็นของตัว  ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแค่ผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งเกี่ยว ให้ใจของเขาอยู่กับเราอาใจใส่เรา ไม่ให้ปันใจไปยังผู้อื่น ทำให้เกิดความหึงหวง หวงแหน
          ความรักประเภทนี้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจสนองความต้องการทางกายและจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่ง ความรักก็จะเริ่มโรยรา ความน่าเบื่อก็จะเกิดขึ้นระหว่างกัน อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะและเลิกราไปในที่สุด  ความรักประเภทนี้จึงเป็นความรักที่ไม่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยต่างๆนานา
          ความรักประเภทที่สอง เป็นความรักที่อยากให้เขามีความสุข เป็นความรักที่เป็นความปรารถนาดี เรารักใครก็อยากให้คนนั้นมีความสุข  อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไรๆให้เขามีความสุข           
          การทำให้เขามีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้ การให้เป็นการปฏิบัติที่ชัดเจนและต้องใช้มากที่สุดในการทำให้ผู้อื่นมีความสุข แต่ว่าการให้ในที่นี้ไม่ใช่เป็นการอ่อยเหยื่อหรือเอาอกเอาใจโดยหวังผลตอบแทนบางอย่าง การให้แบบนั้นเมื่อไม่ได้มาก็จะเสียใจ เสียดาย คับแค้นใจ เพราะเป็นการให้เพื่อจะเอา ไม่ได้ปรารถนาดีอย่างแท้จริง
           ความรักประเภทที่หนึ่งนั้นการได้จึงจะเป็นความสุข แต่ในแบบที่สองการให้ก็เป็นความสุข หรือพูดสั้นๆว่า ความรักที่เป็นการเอากับความรักที่เป็นการให้
           ถ้าเรารักเขา อยากให้เขามีความสุขแล้ว เมื่อเขามีความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมา ความรักก็จะกลายเป็นความสงสาร อยากช่วยเหลือให้พ้นจากทุกข์ ไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ ซึ่งต่างกันอย่างชัดเจนกับความรักประเภทที่หนึ่ง
           ความรักประเภทที่หนึ่งเป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งนั่นเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็เบื่อหน่ายรังเกียจ 
           ความรักประเภทที่หนึ่ง ทางพระเรียกว่า"ราคะ" หรือ"เสน่หา" ส่วนความรักประเภทที่สองเรียกว่า"เมตตา"ผนวกกับ"ไมตรี" และ"เมตตา" จะกลายเป็น"กรุณา" โดยอัตโนมัติเมื่อคนที่เรารักเป็นทุกข์หรือลำบากเดือดร้อน
           ความจริงทุกๆวันควรเป็นวันแห่งความรัก แต่ไหนๆก็ถือเอาวันที่14 กุมภาพันธ์เป็นวันแห่งความรัก ก็ถือโอกาสนี้เขียนถึงเรื่องของความรัก ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความรักทั้งแบบที่หนึ่งและพัฒนาเป็นความรักแบบที่สองนะครับ

---------------
           * พระพรหมคุณาภรณ์  ธรรมกถาในวันมาฆะบูชา 2544 เรื่อง "ความรักจากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย"