วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

กลอนสักวา

         กลอนสักวา (สัก-กะ-วา] เป็นร้อยกรองประเภทกลอนชนิดหนึ่ง หนึ่งบทมี สี่คำกลอนหรือแปดวรรค ขึ้นต้นด้วยคำ 'สักวา' และลงท้ายตอนจบบท(วรรคที่๘)ด้วยคำ 'เอย'
         กลอนสักวาถูกนำมาใช้ทั้งแบบที่เป็นบทประพันธ์ธรรมดา ของผู้ที่มีความสามารถทางด้านการประพันธ์ และนำมาใช้เป็นการละเล่นโต้ตอบกันระหว่างผู้เล่นหลายคน ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางด้านร้อยกรอง และยังต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณของผู้เล่น  ที่จะสามารถโต้ตอบกันได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
         การเล่นสักวานี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัยโบราณ เพราะเป็นการแสดงออกถึงความสามารถทางด้านกวีนิพนธ์ที่โดดเด่นและสนุกสนาน ทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง
         ในสมัยโบราณ มีการเล่นสักวา การเล่นอาจะเล่นบนเรือนที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือนแพหรือเรือนริมน้ำ
หรือ เล่นกันบนเรือ โดยลงเรือกันไปเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นคณะ แต่ละกลุ่มหรือคณะ มีผู้เล่นสักวา  นักร้อง นักดนตรี แล้วแต่งบทสักวาโต้ตอบกัน การโต้ตอบอาจจะเป็นการโต้ตอบกันตามธรรมดา หรือเลือกเอาวรรณคดีต่างๆ มากันเล่นเป็นตอนๆ
        การเล่นสักวาทางเรือนั้นจะเล่นกันในหน้าน้ำ ประมาณเดือน 11 เดือน 12 ช่วงฤดูน้ำหลาก มักเล่นกันในโอกาสเทศกาลทอดกฐินทอดผ้าป่าหรือลอยเรือเที่ยวทุ่ง เมื่อไปพบกันก็จะลอยเรือมารวมกันเล่นกลอนสักวา
        การเล่นสักวานี้สันนิษฐานว่าเป็นที่นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณต่างๆ จนกระทั่งถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 การเล่นสักวาทางน้ำได้หยุดไปเมื่อสังคมเปลี่ยนไป การคมนาคมทางน้ำนั้นมีน้อยลง ผู้คนเปลี่ยนการคมนาคมในชีวิตประจำวันมาเป็นทางบกเป็นส่วนใหญ่หรือทางอากาศ การคมนาคมหรือการละเล่นทางน้ำจึงลดน้อยหรือหยุดลงไป
         การเล่นสักวาในสมัยปัจจุบัน จะการเล่นในอาคารสถานที่บนบก ตามสภาพของสังคมในปัจจุบัน และการเพิ่มการแสดงประกอบการเล่นสักวาขึ้นมาอีก เรียกว่าสักวาออกตัว(แสดง) ซึ่งนอกจากจะได้อรรถรสทางด้านภาษาจากการเล่นสักวา แล้วยังได้อรรถรสจากการบรรเลงดนตรี ขับร้อง และการร่ายรำอีกด้วย

         ลักษณะของกลอนสักวา กลอนสักวาบทหนึ่งมี ๘ วรรค  หรือ ๒ คำกลอน วรรคหนึ่งใช้คำ  ตั้งแต่ ๖-๙ คำ ถ้าจะแต่งบทต่อไปต้องขึ้นบทใหม่ ไม่ต้องร้อยสัมผัสข้องกับบทต้น กลอนสักวาต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า "สักวา" และลงท้ายด้วยคำว่า"เอย" ในวรรคสุดท้ายหรือวรรคจบ ในด้านสัมผัสและความไพเราะและลักษณะแง่งามของกลอนสักวาเหมือนกับกลอนสุภาพ

 ตัวอย่างกลอนสักวา (ของเก่า)
          สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน          ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม      อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม    ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม
ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์            ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย
                               (พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ )
       ในบล็อกนี้จะเน้นบทร้อยรองที่เป็นกลอนสักวา และจะทะยอยเขียนในหน้านี้เรื่อยๆ ในโอกาสต่อไป นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น