วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คำผวน

         คำว่าผวนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายไว้ว่า  ผวน[ผฺวน] ก. หวน, กลับ, เช่น ผวนคํา, เรียกคําที่พูดทวนกลับเช่นนั้น เช่น ตกที่อิฐ ผวนเป็นติดที่อก ว่า คําผวน.
        คำผวนเป็นการเล่นทางภาษาอย่างหนึ่งในภาษาไทย ที่ใช้วิธีการผวนคำ หรือสลับตำแหน่งของเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ในคำสองพยางค์ขึ้นไป 
     ลักษณะคำผวนสองพยางค์
        พยัญชนะต้นของสองพยางค์ยังคงตำแหน่งเดิม สลับเสียงสระ วรรณยุกต์และต้วสะกด ผวนโดยจะเน้นเสียงป็นหลัก ส่วนเสียงวรรณยุกต์อาจเพี้ยนได้เล็กน้อย ไม่เน้นอักขรวิธี  ดังนั้นพยัญชนะต้นและสระของพยางค์แรกกับพยัญชนะต้นและสระพยางค์หลังต้องเป็นคนละเสียงกัน เช่น  
                เบอร์ห้า ผวนเป็น บ้าเห่อ
                ทำนา ผวนเป็น ทานำ
                หัวมัน ผวนเป็น หันมัว
                ตามัว  ผวนเป็น  ตัวมา
               (ลุงชาญ ชื่อผมก็ผวนเป็น LanChung ใช้ในเอ็ม)

       ลักษณะคำผวนมากกว่าสองพยางค์
        มักจะผวนเป็นคู่ คงพยางค์เดิมไว้ส่วนหนึ่ง
             มัวหนึ่งตา ผวนเป็น มาหนึ่งตัว
             ทำอะไร  ผวนเป็น ไทยอะรำ
            กินอะไร ผวนเป็น ไกอะริน
  
          ไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าคำผวนกำเนิดมาแต่เมื่อใด เท่าที่มีหลักฐานปรากฏพบว่ามีการเล่นคำผวนมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเรื่องเล่าว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศรีปราชญ์ กวีเอกในสมัยนั้นได้เคยแต่งโคลงกระทู้ "เป แป มา นา" โดยใช้คำผวน
"เป ทะลูอยู่ถ้ำ มีถม 
แป สะหมูอยู่ตม ไต่ไม้ 
มา แดงแกว่งหางงม หาคู่ 
นา ปล้ำน้ำจิ้มให้ รสลิ้มชิมลอง"
                                   (ให้ผู้อ่านผวนเองนะครับ คงไม่ต้องผวนให้ดู)

      ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานว่า สุนทรภู่ ปรมาจารย์ด้านกลอนของไทยได้แต่งโคลงคำผวนโต้ตอบผู้ที่สบประมาทกล่าวหาว่าท่านแต่งได้แต่กลอนเท่านั้น โคลงแต่งไม่ได้ สุนทรภู่จึงแต่งโคลงเป็นคำด่าผู้สบประมาท ดังนี้
 "เฉน็งไอมาเวิ่งเว้า วู่กา  
รูกับกาว เมิงแต่ยา   มู่ไร้  
ปิดเซ็นจะมู่ซา       เคราทู่  
เฉะแต่จะตอบให้   ชีพม้วยมังรณอ
                       (ให้ผู้อ่านผวนเองนะครับ คงไม่ต้องผวนให้ดู)

       การเล่นคำผวนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ตลกขบขัน แซวหรือหยอกล้อกันภายในกลุ่มสนทนา ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเล็กๆที่สมาชิกกลุ่มมีพื้นฐานในการผวนคำด้วยกัน 
       ผวนคำส่วนหนึ่งก็เพื่อหลีกเลี่ยงคำหยาบหรือคำไม่สุภาพ เช่นเรื่องเพศ โดยไม่ได้มุ่งที่จะให้เกิดความคิดเกี่ยวกับอารมณ์เพศ   เมื่อต้องการจะกล่าวพาดพิงถึงเรื่องเพศก็มักจะเลี่ยงใช้คำผวนเพราะวัฒนธรรมไทยถือกันว่าเรื่องเพศไม่สมควรพูดในที่สาธารณะ เมื่อพูดตรงๆ ไม่ได้ ก็ต้องหาทางเลี่ยงแทน  
       มีเรื่องเล่าว่าคนชอบพูดคำผวนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชคณะหนึ่ง ไปเยี่ยมเพื่อนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนกลุ่มนี้ชอบพูดคำผวนเช่นกัน  การพบปะทักทายกันจะใช้คำผวนเกือบตลอดเวลา ครั้นถึงเวลาเลี้ยงดูปูเสื่อ คณะจากสุราษฎร์ฯ นึกสนุกขึ้นมา เอ่ยชวนคณะจากนครฯ ว่า   เรามาแข่งผวนคำกันเอาม่าย  ฝ่ายใดแพ้ให้เป็นเจ้าภาพค่าอาหารมื้อนี้  คนหนึ่งในทีมนครฯ ตอบทันทีว่า ออ ได้  โดยลากเสียงนิดหน่อย   ทีมสุราษฎร์ฯ ยกมือยอมแพ้ทันที (เพราะคำตอบของทีมนครฯ ผวนได้)
     อนึ่ง การพูดหรือการเล่นคำผวนนั้น มุ่งความสนุกสนานเป็นหลัก ไม่ได้ยั่วยุให้เกิดกำหนัดทางกามารมณ์ หรือเป็นการหมกมุ่นในเรื่องกิจกรรมทางเพศแต่อย่างใด ขอยืนยันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น