วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

การทำบุญ


การทำบุญ 

       วิธีการทำบุญ  ศัพท์ทางพุทธศาสนาใช้คำว่า "บุญกิริยาวัตถุ" ซึ่งพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ อธิบายความหมายของบุญกิริยาวัตถุว่า "สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ เรื่องที่จัดเป็นการทำบุญ ทางทำความดี"  วิธีทำบุญคือวิธีทำความดี ทำสิ่งที่ทำแล้วได้ชำระความเศร้าหมองเร่าร้อน ทำแล้วได้ผลเป็นความดี ทำแล้วเป็นบุญเป็นกุศล รวมทั้งเป็นการประพฤติดีประพฤติชอบ ทางกายวาจา ที่ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้วัตถุสิ่งของเงินทองก็ทำบุญได้

 บุญกิริยาวัตถุ (หมวด ๓)
           ๑. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้
           ๒. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
           ๓. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา

 บุญกิริยาวัตถุ (หมวด ๑๐)
         (๑) ทาน คือ ทำบุญด้วยการให้ จะใส่บาตร ให้สิ่งของ ให้ขนม ปันเงินทอง ก็เป็นทาน นอกจากนั้น ให้ใบหน้ายิ้มแย้ม ให้ความเข้าใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้หูที่รับฟังความทุกข์เดือดร้อน ให้ที่นั่ง ให้ความรู้ ให้ธรรมะ ฯลฯ ก็เป็นทาน (จะเห็นว่าข้อทานนี้ ยังมีคนจำนวนมากเข้าใจว่าต้องให้เงินให้ทองให้สิ่งขอ งเท่านั้น จึงจะเป็นทานที่ทำแล้วได้บุญ แต่ที่จริงแล้ว การทำทานให้เกิดบุญนั้น ทำได้กว้างขวางกว่าการให้สิ่งของเงินทองมากมายนัก อะไรๆ ก็สามารถหยิบยกมาทำให้เกิด ‘ทาน' ได้แทบจะทั้งหมด)
         (๒) ศีล คือ ทำบุญด้วยการตั้งใจระงับ เว้นและงดสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งทางกายและวาจา เช่น ไม่ทำร้ายใคร ไม่พูดปด ไม่พูดร้าย ไม่ส่อเสียด ไปทำงานตรงเวลาไม่อู้ ไม่ทำอะไรที่จะเดือดร้อนตนเดือดร้อนคนอื่น ล้วนเป็นศีลทั้งสิ้น
         (๓) ภาวนา คือ ทำบุญด้วยการพัฒนาฝึกอบรมทางด้านจิตใจ เช่น การศึกษาเล่าเรียนหรือใคร่ครวญข้อธรรมะ การสวดมนต์ไหว้พระ การทำสมาธิ การเจริญสติ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
         (๔) อปจายนะ คือ ทำบุญด้วยการมีใจเคารพอ่อนน้อม อ่อนน้อมถ่อมตนกับมารดาบิดา ผู้หลักผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ กราบพระ ไหว้พระเจดีย์พระวิหารด้วยใจเคารพ เป็นต้น
         (๕) เวยยาวัจจะ คือ ทำบุญด้วยการเอาใจใส่ช่วยเหลือมารดาบิดาและผู้อื่นอย ่างเต็มกำลัง ให้บุคคลเหล่านั้นทั้งหลายไม่ต้องกังวลทั้งเรื่องทาง โลกที่ไม่มีโทษและ เรื่องทางธรรม เช่น ช่วยดูแลเรื่องการงาน ดูแลผู้ป่วยไข้ ช่วยทำความสะอาดบ้านช่อง ช่วยงานปฏิสังขรณ์วัด ช่วยงานบุญงานกุศล งานปริยัติปฏิบัติต่างๆ
         (๖) ปัตติทาน คือ ทำบุญด้วยการแบ่งความดีที่ตนทำแล้วให้ผู้อื่นพลอยปลาบปลื้มและได้รับความดีนั้นไปด้วย เช่น การแผ่และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล หรือเมื่อทำบุญหรือความดีใดๆ ก็บอกให้ผู้อื่นได้พลอยปีติยินดี และอนุโมทนาบุญนั้นๆ ไปด้วยกัน
         (๗) ปัตตานุโมทนาทาน คือ ทำบุญด้วยการอนุโมทนาบุญกุศลหรือความดีที่ผู้อื่นทำและบอกเล่าให้ร่วมอนุโมทนาด้วยจิตใจที่พลอยแช่มชื่นเบิกบานและป ีติยินดีไปด้วย
         (๘) ธัมมะสวนะ คือ ทำบุญด้วยการฟังธรรม อ่าน ศึกษาธรรมะ ด้วยจิตใจอ่อนโยนชุ่มชื่น เบิกบานแจ่มใส โดยมุ่งให้เข้าใจและรู้จักบาปบุญคุณโทษ ให้รู้ในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ตั้งใจเพิ่มพูน และพัฒนาสติปัญญาของตน
         (๙) ธรรมเทศนา คือ ทำบุญด้วยการบอกแนะนำให้ธรรมะอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน แต่มุ่งให้ผู้ฟังได้สติ เกิดศรัทธาและปัญญา รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้ทางโลกที่ไม่มีโทษให้กับผู ้อื่น เช่น สอนความรู้ทางการแพทย์ การเกษตร
        (๑๐) ทิฏฐุชุกัมมะ คือ ทำบุญด้วยการตั้งใจทำความคิดเห็นของตนให้ตรงให้ถูกต้องตามธรรม ตั้งใจพัฒนาสติปัญญาให้ตนเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ ตรงต่อ ความเป็นจริงของธรรมชาติ ตั้งใจไม่ให้ตนเป็นคนมีความคิดเห็นที่ผิด หรือเบี่ยงเบนออกไปจากความเป็นจริง

หมายเหตุ ในแต่ละวิธีจะมีรายละเอียดของวิธีการทำบุญ จะขอยกตัวอย่างในข้อ ทาน หรือทานมัย ดังนี้

         การให้ทาน คือการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน โดยหมายให้ผู้ได้รับได้พ้นจากทุกข์ แบ่งออกเป็น ๓ อย่างได้แก่
๑. อามิสทาน คือการให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงิน เป็นทาน
๒. ธรรมทาน คือการสอนให้ธรรมะ ความรู้ เป็นทาน
๓. อภัยทาน คือการให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ไม่จองเวร หรือพยาบาทกัน
         การให้ทานที่ถือว่าเป็นความดีและได้บุญมากนั้นจะประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการอันได้แก่
๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือเป็นของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ไปยักยอกมา โกงมา หรือได้มาด้วยวิธีแยบยล
๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือมีจิตยินดี ผ่องใสเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
๓. บุคคลบริสุทธิ์ คือให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น